ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ โคม ตุง หรือ โคมล้านนา ตุงล้านนา
เพื่อจะช่วยให้มีความเข้าใจ ที่มาที่ไป ของ โคม ตุง หรือ โคมล้านนา ตุงล้านนา ทาง โคม ตุง ล้านนา สินค้าพื้นเมือง เชียงใหม่ จึงได้ รวมรวมข้อมูล จากหลายๆแหล่ง มานำเสนอเพิ่มเติม ดังนี้นะครับ ดินแดนล้านนาเป็นพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งประชากรภาคเหนือ เรียกตนเองว่า “ชาวล้านนา” โดยมีศิลปะวัฒนธรรมของตนเองซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต ภูมิ ปัญญา ของชาวล้านนา งานประดิษฐ์คิดค้นที่สะท้อนวัฒนธรรมของชาวล้านนาเป็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่สอดใส่จิตวิญญาณแห่งความเคารพรักและบูชาลงไปในผลงาน เพื่อมอบให้แก่บุคคลอันเป็นที่เคารพรัก เพื่อใช้ในโอกาสพิเศษที่เป็นเกียรติยศ เป็นความดีความงามของตนเองรวมทั้งเพื่อตอบสนองความศรัทธาอันสูงสุดของชาวพุทธ โดยเฉพาะความเชื่อในการใช้วัตถุที่ดีมีคุณค่าเป็นเครื่องบูชา สักการะในงานบุญ งานกุศลต่าง ๆ ตามประเพณี
ตุง คืออะไร
ครั้งหนึ่งหากใครได้มีโอกาส เดินทางมาพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อขับรถผ่านทางมายังพื้นที่ เช่น จังหวัดลำปาง ลำพูนและเข้าเชียงใหม่ ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ในช่วงสถานการเวลาปกติ (ไม่นับรวมช่วง “สถานการณ์โควิด-19”ของปี 2563 นี้นะครับ )




หลายๆท่าน จะพบเห็นว่า บางช่วงของเส้นทางจะมีตุงเรียงราย เป็นระยะ สองข้างทาง มีตุงสีสรรค์สวยงาม ทำให้เกิดคำถามในใจว่า เขาทำขึ้นมาเพื่ออะไรนะ มันคืออะไร ธงอะไรนะ บางคนที่รู้ว่าเป็นตุง ก็อาจมีคำถามว่า ตุงจริงๆคืออะไรกันนะ คำถามนั้นบางครั้งเมื่อเวลาผ่านไปเราก็ลืมมันไป วันนี้ ทาง โคม ตุงล้านนา สินค้าพื้นเมืองเชียงใหม่ จะได้นำเสนอข้อมูลความรู้จากผู้รู้ ที่ได้ศึกษาข้อมูลมา นำมาฝากให้ทุกท่านนะครับ เป็นเรื่องราว ข้อมูลที่อาจจะช่วยตอบโจทย์ในใจที่เราได้ลืมมันไปและย้อนภาพจิตใจวันนั้นกลับมาอีกครั้งนะครับ




ตุง ในภาษาถิ่นล้านนา หมายถึง “ธง” ในภาษากลาง ตรงกับธง ประเภท “ปฏากะ” ของอินเดีย คือมีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสา ห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา จุดประสงค์ของการทำตุงล้านนาก็คือ การทำถวายเป็นพุทธบูชา ชาวล้านนาถือเป็นการทำบุญอุทิศให้แก้ผู้ล่วงลับไปแล้วหรือเพื่อถวายเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า วันที่ถวายตุงนั้นนิยมกระทำกันในพญาวัน ซึ่งวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ โดยประมาณจะเป็นวันที่ 15 เมษายน ของทุกปีจะสังเกตุได้จาก การไปวัดในช่วงวันพญาวัน ชาวบ้านจะนำตุงกระดาษที่ผูกกับไม้ไผ่เล็กๆ ยาวประมาณ 1 เมตร จะมีตุงปีใหม่เมือง ตุงใส้หมู ตุงช่อ (ตุงจ่อ) ตุงไชย (ตุงจัย) ตุงใย (ตุงที่ทอด้วยด้าย ไหมหรือแพร) ตุงเทวดา ตุง 12 นักษัตร (หรือตุง 12 ราศี) หรือตุงประเภทต่างๆผูกกับไม้ไผ่ยาว 2-3 เมตร นำตุงไปปักไว้ที่เจดีย์ทราย ในบริเวณวัด ชาวบ้านจะทำบุญกันในช่วงเช้าและถวายตุง (ตานตุง) กันในวันพญาวันนี้ ทุกวันนี้ การถวายตุง สามารถ ถวายในงานบุญต่างๆ ตามศรัทธาของผู้ที่มีจิตกุศล




ปัจจุบันชาวล้านนาส่วนใหญ่ยังนิยมสร้างตุงเพื่อใช้ในพิธีการต่างๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ประเพณี งานเทศกาลและงานเฉลิมฉลองต่างๆ หรืองานที่เกี่ยวกับความตาย นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่าวิญญาณผู้ตายนี้สามารถยึดหรือปีนป่ายตุงขึ้นสวรรค์ได้ ดังเรื่องเล่าว่า “กาลครั้งหนึ่งมีนายพรานซึ่งเข้าป่าล่าสัตว์ในป่านานหลายสิบๆปี ผ่านไปที่วัดเห็นตุงที่แขวนโบกสะบัดสวยงามมาก เมื่อกลับถึงที่บ้านจึงได้ทำตุงขึ้นเพื่อที่จะไปถวายที่วัดบูชาพระประธาน ครั้นเมื่อเขาตายไป ถูกตัดสินส่งลงนรกเนื่องจากไม่เคยทำความดีเลย มีแต่ฆ่าสัตว์ ยกเว้นทำตุงถวายวัดเท่านั้น เมื่อถูกตัดสินลงนรก ตุงผืนที่เขาทำขึ้นนั้นได้มาพันดึงเขาให้พ้นจากนรก นำขึ้นสู่สวรรคได้” นอกจากนี้ตุงยังเป็นสื่อธรรมทางพระพุทธศาสนาหลายประการ




ประวัติของตุง
เรื่องราวเกี่ยวกับตุง หรือ ธง ที่ปรากฏพุทธประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อในพุทธศาสนานั้น ระบุไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์พุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและหินยาน ธงในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายหินยานมีคัมภีร์ที่กล่าวถึงธง ได้แก่ คัมภีร์พระสุตันปิฎก สังยุตนิกาย สคาถวรรค สักสังยุต ชื่อ ธชัคคสูตร เล่าให้เป็นข้อมูลสรุปสั้นๆพอเข้าใจดังนี้ ธชัคคสูตร คือพระสูตรที่แสดงถึงยอดธง อันท่านแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงเรื่อง “เทวาสุรสงคราม” คือสงครามแห่งเทวดากับอสูร ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมีมาแล้ว โดยตรัสเล่าเมื่อเทพดาทั้งหลายรบกับอสูร ความกลัวบังเกิดกับเทพดาทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทวดา จึงได้ตรัสแนะนำให้หมู่เทพแลยอดธง หรือชายธงของพระองค์ หรือว่า ธง ของเทวราชที่รองลงมา แล้วความกลัวก็จะหายไป
จากที่ยกกล่าวมาแสดงให้เห็นว่าธง และรูปแบบของธงนั้น ได้ปรากฎอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามาแต่ครั้งสมัยพุทธกาล การที่สังคมพุทธถือว่า ธง เป็นเครื่องสักการะที่ศักดิ์สิทธิ์ และนำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในงานพุทธพิธี พิธีกรรม ความเชื่อและยังได้รับการพัฒนารูปแบบและการตกแต่งอย่างวิจิตร สวยงาม มาจนถึงปัจจุบัน
ภูมิหลังประวัติความเป็นมาของตุง พระพุทธศาสนามีอิทธิพล ความเชื่อของคนเมืองเป็นอย่างมาก คนเมือง คนยอง คนลื้อ คนเขิลและมอญ ต่างนับถือศาสนาพุทธเดียวกัน มีวิถีชีวิตเดียวกัน คือวิถิชาวพุทธที่เชื่อว่า การทำตุงถวายเป็นพุทธบูชาเป็นสิ่งปรารถนาสูงสุด ได้บุญกุศลยิ่งใหญ่ ซึ่งจะนำพาตนเองขึ้นสวรรค์เพราะตุงเป็นปฐมเจดีย์แห่งแรกในล้านนาหรือคนเมืองเหนือ
“ ในสมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคืออำเภอแม่จัน) พระมหากัสสปะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมอบให้แก่ พระเจ้าอชุตราช ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนดอยแห่งหนึ่ง จึงได้ให้ทำ ตุงไชย มีความยาว 1,000 วาปักบนยอดเขา หากตุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวก ลาวจก เป็นค่าที่ดิน และให้พวก มิลักขุ 500 ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยพญามังรายแห่งราชวงศ์มังราย พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย พญามังราย จึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม จึงได้มีเจดีย์สององค์ ณ สถานที่แห่งนี้ คนทั้งหลายพากันเรียก “พระธาตุดอยตุง” จนถึงวันนี้


ตุง นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวล้านนา หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง การมีชัยชนะ ในวัดจะมี รอยปักตุง เป็นรอยแยกบนพื้น ยาวประมาณ 1 ฟุต อยู่ด้านหน้าพระธาตุ เชื่อกันว่าเป็นรอยแยกที่ใช้ปักฐานตุงบูชาพระธาตุ สร้างมาประมาณ 1,000 ปีแล้ว พระบรมธาตุดอยตุง เป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 3 ยังถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีกุน ที่นิยมมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล การนำตุงขึ้นไปบูชาพระธาตุ นับเป็นการจุดประกายการเชื่อถือและศรัทธาความเชื่อความคิดเกี่ยวกับ “ตุง” ของพุทธศานิกชนทั่วภาคเหนือ
ตุง กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับความเชื่อทางวัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้านท้องถิ่นที่ชาวล้านนา สร้างขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนคติความเชื่อและนำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆทางพุทธศาสนา ตุงล้านนาจึงมีรูปแบบหลากหลายทั้งทางรูปทรงและรายละเอียด
ตุง มีความสัมพันกับพิธีกรรม ความเชื่อในพระพุทธศาสนาตลอดถึงประเพณีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของชาวล้านนา โดยมีความเชื่อว่าตุงเป็นสัญลักษณ์ของความดี ความเป็นศิริมงคลและเป็นสื่อการนำวิญญาณของผู้ถวายตุงและวิญญาณของผู้ล่วงลับที่มีผู้ถวายตุงให้ได้ไปสู่สวงสวรรค์ นอกจากนั้นยังใช้ตุงเป็นเครื่องสักการะถวายไว้ในพุทธศาสนา การถวายตุงดังกล่าวนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวล้านนาและยังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพชนที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน โดยผ่านการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งมายังอีกรุ่นหนึ่ง
ประเภทของตุง
ตุงที่ใช้ในงานพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวล้านนา นักปราชญ์โบราณในล้านนา ได้จำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ 2 ประเภท คือ ตุงที่ใช้ในงานมงคล ถือเป็นตุงทำบุญ และ ตุงที่ใช้ในงานอวมงคล ถือเป็นตุงทำทาน ซึ่งแต่ละประเภทประกอบไปด้วยตุงชนิดต่างๆมากมาย
ตุงที่ใช้ในงานมงคล เป็น ตุงที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางศาสนาหรือตามความเชื่อ ในงานประเพณี พิธีการรม ต่างๆ ซึ่งเป็นไปในทางดี เป็นเป็นบุญกุศล แก่ผู้กระทำ ประเพณีทางภาคเหนือจะพบเห็นตุงเป็นส่วนประกอบงานต่างๆ เสมอในงานมงคลจะพบตุงนานาชนิดร่วมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงาน ทำบุญปีใหม่ สงกรานต์ งานเทศกาลต่างๆ รวมถึงงานปอยหลวง (งานฉลองโบสถ์ วิหาร หอฉันท์ กุฏิ หรือการสร้างถาวรวัตถุต่างๆในวัดสำเร็จแล้ว จะมีการทำบุญใหญ่ของวัดนั้นๆ เรียกว่างานปอยหลวง) ซึ่งงานปอยหลวงนี่เองที่เราขับรถผ่าน เราจะพบเห็นตุงเรียงราย เป็นทิวแถวสองข้างถนน นั่นหมายความว่า ณ แห่งหนตำบล นั้น จะมีการทำบุญปอยหลวง นั่นเอง
ตุงมงคล ที่จะแนะนำให้รู้จักกันก่อน ในคราวนี้ จะยังไม่ลงลึกในรายละเอียด เดี๋ยวเราจะมาเล่าสู่กันฟัง คราวหน้าแบบลึกๆนะครับ วันนี้เราแนะนำเป็น ชื่อตุงมงคลแต่ละแบบกันก่อนนะครับ
ตุงมงคล ประกอบด้วย (ตุงช่อทางเหนือเรียกจ้อ) จ้อนำตาน,จ้อช้าง,จ้อร้อยแปดจ้อน้อย ,ตุงค่าคิงหรือตุงสืบชะตา,ตุงไจย,ตุงพญายอ,ตุงใย,ตุงซาววา,ตุงตั๋วเปิ้งหรือตุง12นักษัตร,ตุงราว,ตุงพระบฏ,ตุงกระด้าง,ตุงใช้ประกอบการเทศน์ เป็นต้น
ตุงที่ใช้ในงานอวมงคล เป็นตุงที่สร้างขึ้นในพิธีศพ หรือถวายทานให้แก่ผู้ตายเนื่องจากประสบอุบัติเหตุหรือถวายทานเพื่อเป็นอานิสงค์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ตุงอวมงคลประกอบด้วย ตุงสามหาง,ตุงแดง,ตุงผีตายโหง,ตุงค้างแดง,ตุงเหล็ก/ตุงตอง,ตุงขอนนางผาน,ตุงขอนก๋ม,ตุงเรือ,ตุงใบไม้ เป็นต้น
ชาวล้านนายังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาและประเพณีอันเกี่ยวข้องกับชีวิต เป็นสัญลักษณ์แห่งความดี เป็นสิริมงคล ตุงเป็นงานพุทธศิลป์ ทำจากผ้าเป็นส่วนใหญ่ ที่ชาวบ้านล้านนาทำขึ้นเพื่อบูชาลม ใช้เป็นเครื่องสักการะถวายเป็นพุทธบูชาและประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ดังนั้นจึงแตกต่างจาก ธง ในดินแดนอื่นๆ เช่นนี้เราๆ ท่านๆ ก็จะยังพบเห็นความงดงามทางวัฒนธรรม เห็นตุงสีสรรสวยงามผ่านประเพณี ที่ยังคงสืบทอดกันมา เมื่อได้มาเยือน ดินแดนล้านนาในครั้งต่อไป ทาง โคม ตุง ล้านนา สินค้าพื้นเมืองเชียงใหม่ จะได้นำข้อมูลความรู้ดีๆ มาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ ยังไงก็ขอฝากไว้เป็นข้อมูลเกร็ดความรู้ เพื่อการเรียนรู้เรื่องราวของตุง กันต่อไปนะครับ
โคม คืออะไร
โคม คืออะไร ? คงมีคนอยู่ไม่น้อย ที่ยังสงสัยและอยากรู้ เรื่องโคมหรือโคมล้านนา แม้แต่คนเชียงใหม่ รุ่นใหม่ๆ หรือพี่น้อง ที่อาจจะย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดอื่น คนไทยในหลายภาค อาจจะรู้สึกว่าเป็นความเชื่ออะไรนะ โคมล้านนา มีไว้ทำอะไร ทำไมเขาถึงปล่อยโคมลอยกันหรือบางที เห็นเขาแขวนโคมล้านนา ที่วัด ที่บ้าน ร้านค้า ร้านอาหาร รีสอร์ทต่างๆ ดูสวยงามและได้บรรยากาศ ความเป็นล้านนาจังเลย ทาง โคม ตุง ล้านนา สินค้าพื้นเมือง เชียงใหม่ จะมาเล่าให้ฟังกันนะครับ
หลายๆท่าน ที่เคยมาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงปลายๆปี ประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือใกล้ๆ ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว ในหลายๆปีที่ผ่านมา จะได้ยินและพบเห็นการปล่อยโคมลอย ของทางภาคเหนือ ดินแดนล้านนาแห่งนี้ ในทุกๆปี ใน สถานที่สำคัญๆ ต่างๆ เช่น วัดต่างๆในตัวเมืองเชียงใหม่ และวัดในหลายๆอำเภอของเชียงใหม่ ธุดงคสถานล้านนา ใกล้ๆมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น




ประวัติความเป็นมาของโคมล้านนา ประวัติความเป็นมาของพระเพณีปล่อยโคมหรือลอยโคม ที่ถือปฏิบัติสืบกันมาได้เกิดจากการอันเชิญ คัมภีร์พระพุทธศาสนามาประดิษฐานไว้ในประเทศไทยสมัยกรุงสุโขทัย โดยมีพระร่วงเจ้า (พระเจ้าอรุณราช) ทรงมีผู้ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาและสืบเนื่องด้วยสนมเอก กล่าวคือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้คิดค้นประดิษฐ์โคมประทีปสำหรับสักการะบูชา ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง (ยี่เป็ง) จึงนับได้ว่าเป็นต้นตำรับ ของประเพณีปล่อยโคมหรือลอยโคมในประเทศไทย แม้ไม่ปรากฏชัดเจนว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และเท่าที่มีหลักฐานค้นพบคือ ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิฐานว่า “เดิมทีเป็นพิธีของพราหมณ์ กระทำขึ้นมาเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม” ต่อมาได้ถือปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยปรับเปลี่ยนความคิดให้เข้ากับคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือมีประเพณีชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์และบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมาทานที ที่พญานาครักษาอยู่บนยอดภูเขาสุวรรณมาลี ยอดเขาสุวรรณบรรพตและยอดภูเขาสุมณกุฏ
สำหรับประเพณีลอยโคมสมัยสุโขทัยนั้น นางนพมาศพระสนมของพระร่วงได้คิดค้นทำกระทงถวายเป็นรูปดอกบัวและรูปลักษณะแบบต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำ พระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยกระทงดอกบัวของนางนพมาศเป็นอย่างมากจึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่างและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันและกาลต่อมาการถือปฏิบัติตามแนวคิดของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วทุกๆภาคของประเทศไทย ซึ่งแฝงไว้ในคติความเชื่ออย่างเป็นรูปแบบแต่การทำพิธีนั้นบางแห่งอาจจะไม่เหมือน ครั้งกรุงสุโขทัยทุกอย่าง เพราะได้เปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรมของแต่ละภาคแต่จุดประสงค์ของการลอยกระทงนั้นยังเหมือนเดิม ( อ้างอิงจาก :พระปลัดจตุพร วชิรญาโณ (ศรีใจป้อ),ดุษฏีนิพนธ์ แนวคิด ประวิติศาสตร์และกระบวนการสร้างอัตลักษณ์วัฒนธรรมพระพุทธศาสนาแบบล้านนา (เชียงใหม่ 2560),หน้า37-38)




คำว่า “โคม” นั้น ทางเหนือในสมัยก่อน เรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “โกม” มันคือ “ตะเกียง” ลักษณะโกม ที่ว่าจะมีที่ใส่น้ำมันกาดข้างใน แล้วมีสายชนวน ต่อขึ้นมาเพื่อให้จุดไฟ บางข้อมูล “โกม คือ เครื่องจุดไฟที่มีที่บังลม โปร่งแสง อาจมีรูปสี่เหลี่ยม รูปแปดเหลี่ยม ทรงกลม หรือทรงอื่นๆ ที่สามารถหิ้วหรือแขวน ในที่ต่างต่างได้” ทั้งนี้ผมว่า มันก็คล้ายๆ ตะเกียงที่เราคุ้นเคยและเห็นกัน ในละครพื้นบ้านสมัยก่อนนั่นเอง




คำว่า “โคม” นั้น จึงเป็นชื่อเรียกที่ พร้องเสียง มาจากคำว่า “โกม” ในภาษาพื้นบ้านของคนล้านนา โดย โคม จะทำขึ้นเพื่อ “ให้เป็นเครื่องบูชาสิ่งที่ เคารพนับถือ เช่น แขวนบูชาพระพุทธรูป แขวนไว้ในศาสนสถาน และสถานที่สำคัญในงานพิธีต่างๆ ” เมื่อผ่านกาลเวลามา รูปแบบของโคม ก็ปรับเปลี่ยนไป ดังที่เราได้เห็นกันจนถึงปัจจุบัน
โคมล้านนา ในช่วงก่อนวันเพ็ญ เดือนยี่ นั้นช่างฝีมือ จะทำการประดิษฐ์โคมรูปลักษณ์ ต่างๆ เพื่อเตรียมใช้กับการจุดผางประทีป โดยนำประทีปจุดไว้ในโคม แขวนบริเวณวัด บริเวณพระธาตุเจดีย์ หน้าพระวิหาร กลางพระวิหาร จนถึงปัจจุบันนิยมแขนประดับตกแต่ง ตามอาคาร บ้านเรือน ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มากมาย โคมล้านนามีลักษณะหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่การสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น โคมรูปแบบโบราณที่พบทั่วไปในล้านนา เช่น โคมรังมดส้ม หรือโคมธรรมจักร โคมดาว โคมไห โคมเงี้ยวหรือโคมเพชร โคมกระบอก โคมหูกระต่าย โคมดอกบัว โคมญี่ปุ่น โคมผัด ในปัจจุบันมีการประดิษฐ์โคมรูปแบบไหม่ เช่นโคมรูปจรวด โคมเครื่องบิน โคมบอลลูน โคมร่ม โคมปราสาท โคมลายไทย โคมต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่ใช้โคมไม้ไผ่ (ไม้เหียะ) โดยการนำมาหักตามแนวที่วัดไว้ขึ้นโครง ติดกาว ติดกระดาษทอง กระดาษสา กระดาษแก้ว ผ้าโทเร หรือผ้าดิบ ตัดติด ด้วยลายกระดาษทอง กระดาษเงิน ประดับตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม




ความเชื่อของคนล้านนา คือ ชาวล้านนา ใช้ โคม ในการจุดบูชาพระพุทธเจ้า ในช่วงงานประเพณียี่เป็ง เป็นวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ (ชื่อเรียกเดือนทางเหนือ) หรือวันเพ็ญเดือนสิบสอง ที่เรียกกันจนคุ้นหูว่า “ยี่เป็งล้านนา” ในวันที่เรามีประเพณีลอยกระทง ของทุกปี จึงถือได้ว่าหากใครมีโอกาสได้จุดประทีปกับโคม แสงประทีปที่ได้จุดกับโคม จะช่วยส่องประกายให้ดำเนินชีวิต ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองและอยู่เย็นเป็นสุข ตลอดไป
โคมลอย ที่หลายๆคนเรียกจนติดปาก จริงๆ คือ โคมไฟ ใช้ปล่อยตอนกลางคืน มีกรรมวิธีเช่นเดียวกับโคมลอย ที่ใช้ปล่อยตอนกลางวัน แต่แตกต่างกันที่เขาใช้ท่อนไม้พันด้ายก้อนกลมๆ ชุบน้ำมันยางหรือน้ำมันขี้โล้จนชุ่มแล้วทำที่แขวนติดกับโคลอยจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และลอยไปตามกระแสลม โคมไฟ ที่ปล่อยตอนกลางคืนนี้ อาจเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่น บางครั้งผ้าที่ชุบน้ำมันยังติดไฟอยู่ และยังไม่ดับขณะตกลงมา เป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้บ้านเรือน โคมลอยที่ปล่อยตอนกลางคืนนี้ (โคมไฟ) ปัจจุบัน ได้ถูกการ จำกัด ควบคุม เวลาและพื้นที่ในการปล่อย ไม่สามารถปล่อยได้ตามใจดังเช่นอดีตที่ผ่านมา
ตามความเชื่อของการปล่อยโคมลอย ทั้งกลางวันและกลางคืน คือเชื่อว่าปล่อยเพื่อเป็นพุทธบูชา ตามความเชื่อของคนโบราณ ยังเชื่อว่า การได้ลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้า เป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยนาม ซึ่งเป็นการให้ทานในลักษณะหนึ่ง และอีกความเชื่อหนึ่งคือการลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ ด้วย
โคมรูปแบบอื่น นอกจาก โคมลอยที่เราเห็นกันอย่างชัดเจนในช่วงเทศกาลลอยกระทง ยังมี โคมที่เป็นรูปแบบ โคมแขวน โคมถือ และโคมผัด ที่ทาง โคม ตุง ล้านนา สินค้าพื้นเมืองเชียงใหม่ จะได้ นำเสนอข้อมูลดีๆ มาให้ทุกท่านได้ติดตามต่อไป นะครับ
ในมุมมองปัจจุบัน การสืบสานภูมิปัญญาของคนล้านนา ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ยังคงเป็นถนนแห่งความสวยงามทางวัฒนธรรม ที่สามารถพบเห็นได้ที่เชียงใหม่และดินแดนล้านนา จังหวัดทางภาคเหนือของไทย หากมีโอกาสได้มาเยื่อนเชียงใหม่และจังหวัดไกล้เคียง ช่วง วันเพ็ญเดือนสิบสอง หรือลอยกระทง นั้น ทุกท่านจะยังคงได้พบเห็นความประทับในของชาวล้านนา ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานประเพณีและร่วมกันรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ดีนี้ต่อไป ขอบคุณและพบกับเนื้อหาดีๆ จาก โคมตุงล้านนา สินค้าพื้นเมืองเชียงใหม่ในครั่งต่อไป นะครับ



